Search
Close this search box.

‘ระบบยกยออัตโนมัติ’ ติดตามผลเพาะเลี้ยงกุ้งได้ทุกที่ทุกเวลาแบบเรียลไทม์

share to:

Facebook
Twitter

 

การเพาะเลี้ยงกุ้งให้ประสบความสำเร็จมีอัตราการอยู่รอดสูง สิ่งสำคัญคือเกษตรกรจะต้องคอยติดตามการเจริญเติบโตและปริมาณการกินอาหารของกุ้งในแต่ละวันอย่างใกล้ชิด โดยยกยอขึ้นจากบ่อเพาะเลี้ยงทุกบ่อวันละหลายครั้งเพื่อตรวจสอบการกินอาหารของกุ้ง เพราะปริมาณการกินอาหารของกุ้งในแต่ละวันจะเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงวัย อุณหภูมิของน้ำ รวมถึงสุขภาพของกุ้ง ณ ขณะนั้น ซึ่งหากให้อาหารในปริมาณที่น้อยเกินไปจะส่งผลให้กุ้งเติบโตช้า และหากให้มากเกินไปจะส่งผลให้น้ำในบ่อเลี้ยงเน่าเสียซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพกุ้ง และยังสิ้นเปลืองค่าอาหารที่เป็นหนึ่งในต้นทุนหลักของการเพาะเลี้ยงโดยเปล่าประโยชน์อีกด้วย

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนา ‘ระบบยกยออัตโนมัติ (Automatic Feeding-tray Lifting System)’ อุปกรณ์ IoT (Internet of Things) สำหรับยกยอขึ้นถ่ายภาพและส่งภาพถ่ายผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปยังแอปพลิเคชัน LINE เพื่อช่วยลดภาระงานดูแลบ่อเลี้ยงกุ้ง และช่วยให้ผู้ประกอบการติดตามผลการเพาะเลี้ยงได้จากทุกที่ทุกเวลาแบบเรียลไทม์

‘ระบบยกยออัตโนมัติ’ มีลักษณะเป็นชุดอุปกรณ์น้ำหนักเบาติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ ติดตั้งได้ง่าย ไม่ต้องก่อสร้างโครงสร้างเพิ่มเติมเพื่อรองรับการติดตั้งอุปกรณ์ อุปกรณ์หลักประกอบด้วยกล่องควบคุมที่มีระบบสมองกลฝังตัวอยู่ภายในสำหรับสั่งการทำงาน กล้องสำหรับถ่ายภาพ เซนเซอร์สำหรับกำหนดระยะการยกยอจากผิวน้ำ และตัวยอที่ใช้ในการเลี้ยงกุ้งโดยทั่วไป

กลไกการทำงานของระบบ คือ กล่องควบคุมจะสั่งการให้ระบบยกยอขึ้นมาจนถึงตำแหน่งที่มีเซนเซอร์ตรวจจับซึ่งเป็นตำแหน่งที่พอดีกับระยะโฟกัสของกล้อง จากนั้นกล้องจะถ่ายภาพแล้วส่งเข้าระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อจัดส่งข้อมูลไปให้เจ้าของฟาร์มหรือผู้ดูแลระบบผ่านทางแอปพลิเคชัน LINE ซึ่งการยกยอขึ้นมาถ่ายภาพแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 15 วินาทีเท่านั้น ผู้ดูแลฟาร์มสามารถกำหนดความถี่ในการถ่ายภาพแบบอัตโนมัติได้สูงสุดทุก 30 นาที หรือหากต้องการตรวจสอบข้อมูลแบบเรียลไทม์ ก็สั่งการทำงานจากระบบควบคุมที่ตัวเครื่อง หรือสั่งผ่านแชตบอตในแอปพลิเคชัน LINE ให้ถ่ายภาพ ณ ขณะนั้นได้ทันที อุปกรณ์ระบบยกยออัตโนมัติผ่านการออกแบบโดยคำนึงถึงความสะดวกในการใช้งาน อุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตและซ่อมแซมหาซื้อได้ง่ายและราคาไม่แพง รองรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านทั้งระบบ WIFI สาย LAN และการใส่ SIM Card ส่วนด้านระบบพลังงานชุดอุปกรณ์รองรับทั้งกระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าและจากโซลาร์เซลล์

ทั้งนี้เพื่อการยกระดับการทำงานของอุปกรณ์ IoT ไปอีกขั้น สิ่งที่ทีมวิจัยกำลังพัฒนาต่อคือ ทำให้ระบบวิเคราะห์ขนาดและน้ำหนักของกุ้งตัวอย่างในยอได้อัตโนมัติ ผ่านการใช้ AI ตรวจจับตำแหน่งและนับปริมาณกุ้ง และใช้ระบบ image processing วิเคราะห์ขนาดความยาวของกุ้งแต่ละตัว โดยใช้ข้อมูลจากกรมประมงมาแปลงความยาวของตัวกุ้งเป็นน้ำหนักของกุ้งแต่ละตัวโดยประมาณ ซึ่งข้อมูลด้านน้ำหนักจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการติดตามอัตราการเจริญเติบโต อย่างไรก็ตามการวิจัยในส่วนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการทดสอบภาคสนามเพื่อพัฒนาความแม่นยำในการวิเคราะห์ผล ซึ่งหลังจากการวิจัยและพัฒนาเสร็จสิ้นแล้ว สามารถติดตั้งฟังก์ชันนี้เข้าไปเพิ่มเติมในระบบประมวลผลเดิมได้

‘ระบบยกยออัตโนมัติ’ เป็นอุปกรณ์ที่พัฒนาโดยนักวิจัยไทยเพื่อสนับสนุนการทำเกษตรของคนในภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน อย่างไรก็ตามการวิจัยจำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณในการวิจัยและการพัฒนาอุปกรณ์ การทดสอบใช้งานภาคสนาม และการขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ปัจจุบันทีมวิจัยจึงกำลังเสาะหาช่องทางการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐและเอกชนในการขยายผลสู่การเปิดให้ใช้งานเทคโนโลยีในรูปแบบสาธารณประโยชน์ (open source) เพื่อให้เกษตรกรไทยมีโอกาสเข้าถึงการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับการทำการเกษตรอย่างทั่วถึง

รายละเอียดเพิ่มเติม: ‘ระบบยกยออัตโนมัติ’ ลดภาระงานดูแลบ่อเลี้ยงกุ้ง ติดตามผลได้ทุกที่ทุกเวลาแบบเรียลไทม์