Search
Close this search box.

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดพิธีลงนามข้อตกลงบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างสถาบันเกษตรกรของจังหวัดนครศรีธรรมราชกับผู้นำเข้าและส่งออกผลไม้สู่ตลาดญี่ปุ่น

share to:

Facebook
Twitter

วันนี้ (11 กรกฎาคม 2566) ที่โรงแรมปุระนคร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช ดำเนิน โครงการส่งเสริมการขยายตลาดสินค้ากล้วย ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วย และมังคุดไทย เพื่อขยายตลาดส่งออกสู่ตลาดเมืองรองในญี่ปุ่น ปี 2566 โดยจัดกิจกรรมให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการ และพิธีลงนามข้อตกลงบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างสถาบันเกษตรกรของจังหวัดนครศรีธรรมราชกับผู้นำเข้าและส่งออกผลไม้สู่ตลาดญี่ปุ่น โดยมีนายไตรรัตน์ ไชยรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในพิธีเปิดและร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม MOU พร้อมด้วย นายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว, ดร.พิมพ์ใจ มัตสึโมโต ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, นางประไพ เพชรพงศ์พันธุ์ พาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช, หัวหน้าส่วนราชการ, ภาคเอกชน, ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรยังประเทศญี่ปุ่น, สถาบันเกษตรกร, ผู้ประกอบการ BCG จังหวัดนครศรีธรรมราช และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรม

นางประไพ เพชรพงศ์พันธุ์ พาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า สืบเนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2566 ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 แบ่งเป็น 4 ด้าน จำนวน 22 มาตรการ ซึ่งในปีนี้ได้ตั้งเป้าแผนบริหารจัดการผลไม้รวม จำนวน 700,000 ตัน โดยแบ่งเป็นการจัดการตลาดในประเทศ จำนวน 600,000 ตัน และการผลักดันส่งออก จำนวน 100,000 ตัน ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันการส่งออกผลไม้ไทยไปยังตลาดต่างประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเกษตรของไทย อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการค้าให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าผลไม้ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และได้มาตรฐานระดับประเทศ

ซึ่งจากมติที่ประชุมคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคใต้ ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 18-19 พฤษภาคม 2566 ผลไม้ 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกอง มีปริมาณเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 895,118 ตัน คิดเป็นร้อยละ 77 (เทียบกับ ปี 2565 ปริมาณ 505,642 ตัน) ซึ่งจังหวัดนครศรีธรรมราช ถือเป็นจังหวัดแหล่งผลิตมังคุดที่สำคัญของภาคใต้ โดยในปี 2566 มีปริมาณมังคุด จำนวน 41,283 ตัน มากเป็นอันดับสองของภาคใต้ แม้จะมีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น

แต่ในปัจจุบันสถานการณ์ Covid -19 มีแนวโน้มลดความรุนแรงลง มาตรการเปิดประเทศและการปรับมาตรการของภาครัฐจนเข้าสู่ภาวะปกติ การเตรียมมาตรการส่งออกและกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ ส่งผลให้มีกำลังซื้อเข้ามามากขึ้น เป็นสัญญาณที่ดีทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ที่จะสามารถรองรับผลผลิตจากเกษตรกรได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้เสนอมาตรการการส่งออกแบบใหม่โดยไม่ต้องอบไอน้ำ คาดว่าจะใช้มาตรการใหม่ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการส่งออกของผู้ประกอบการ ยืดอายุของผลมังคุดสด สามารถขนส่งทางเรือได้อีกช่องทางหนึ่ง นอกเหนือจากการขนส่งทางเครื่องบิน จะสามารถเอื้อประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการให้ส่งออกมังคุดได้ ซึ่งจะเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นได้เข้าถึงมังคุดไทยได้มากขึ้น

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกผลไม้ ได้เลือกจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเป้าหมายในการส่งออกผลไม้ไปยังตลาดญี่ปุ่น โดยจัดกิจกรรมให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการ ระหว่างวันที่ 10-11 กรกฎาคม 2566 โดยวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ได้ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดในพื้นที่อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช และในวันนี้เป็นพิธีลงนามข้อตกลงบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างสถาบันเกษตรกรของจังหวัดนครศรีธรรมราชกับผู้นำเข้าและส่งออกผลไม้ ปริมาณไม่น้อยกว่า 300 ตัน และการบรรยายให้ความรู้การเตรียมความพร้อมการส่งออกมังคุดสู่ตลาดญี่ปุ่น จากผู้ทรงคุณวุฒิของกระทรวงพาณิชย์ ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกผลไม้ไทย ผู้เชี่ยวชาญจากกรมวิชาการเกษตร และการลงพื้นที่ให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดในพื้นที่อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช

ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230711154250695