Search
Close this search box.

ปูทางทุเรียนไทยสู่เวที ทุเรียนโลก ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม

share to:

Facebook
Twitter

ในปี 2565 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกทุเรียนทั่วประเทศที่ให้ผลผลิตประมาณ 1,054,868 ไร่ มีมูลค่าการส่งออกกว่า 1 แสนล้านบาท โดยจีนเป็นตลาดหลักในการส่งออกทุเรียนของไทย (กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, 2566) แซงหน้าพืชเศรษฐกิจหลายชนิดที่เคยทำสถิติการส่งออกไว้ และข้อมูลทางสถิติล่าสุดนี้เองที่มายืนยันว่า ทุเรียนไทย กำลังเติบโตได้อย่างสวยงามบนเส้นทางสู่ ทุเรียนโลก

ทว่า อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ ทุเรียนไทย เป็นที่รู้จักในเวที ทุเรียนโลก นอกเหนือจากคุณภาพ รสชาติ ที่มีเหนือคู่แข่งในภูมิภาคเดียวกันแล้ว คือ นวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ ที่คิดค้นโดยนักวิจัยไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยสร้างมาตรฐานให้ทุเรียนไทยเป็นที่ยอมรับในฐานะ ผลไม้ส่งออกของไทย ได้มากขึ้น
มาในวันนี้ เพื่อให้เห็นถึงบทบาทของงานวิจัยและนวัตกรรมในการเพิ่มขีดความสามารถให้ผลไม้ไทยผงาดได้ในเวทีการค้าโลก ขอมารีวิวงานวิจัยต้นแบบที่ช่วยส่งเสริมการสร้างมาตรฐานให้ทุเรียนไทยได้จริงในหลากหลายมิติ

ประกันภัยทุเรียน

ใช้นวัตกรรมแก้ปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียน พร้อมพัฒนาการผลิตทุเรียนคุณภาพสูงด้วยเทคโนโลยีตั้งแต่ต้นน้ำ

ปัญหาโรครากเน่าโคนเน่า นับเป็นปัญหาที่สร้างความทุกข์ใจให้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนของไทยไม่น้อย เพราะเจ้าโรคร้ายนี่เองที่เป็นตัวการทำให้ต้นทุเรียนที่ตั้งใจปลูกและประคบประหงมมาเกือบ 10 ปี ยืนต้นตายได้ และผลทุเรียนมีอาการไส้ซึม เนื้อแข็งเป็นไต รสชาติไม่ดี
ทีมผู้วิจัยจาก สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ภายใต้โครงการท้าทายไทย โครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาเกษตรกรไทยสู่ smart farmer ปีงบประมาณ 2562 เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียน และการพัฒนาการผลิตทุเรียนคุณภาพสูงด้วยเทคโนโลยีตั้งแต่ต้นน้ำ
โดยงานวิจัยนี้ ได้ทำการปลูกและบำรุงรักษาต้นทุเรียนด้วยนวัตกรรมการสร้างระบบนิเวศชักนำรากลอย (Reborn Root Ecosystem: RRE) ที่ได้จากการถอดรหัสการวิจัยจากองค์ความรู้ทางด้านวนศาสตร์ ผสมผสานกับองค์ความรู้ของพืชสวน โรคพืช และปฐพีวิทยา (multidisciplinary) ซึ่งสามารถสร้างระบบนิเวศจากจุลินทรีย์ที่ดีให้กับระบบรากพืช เกิดชั้น humus และสาร humic  substance ให้รากพืชอยู่กับจุลินทรีย์แบบเกื้อกูลกัน (symbiosis) และรากพืชสามารถหาอาหารได้อย่างสมบูรณ์

องค์ความรู้นี้ถูกนำไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรแบบบูรณาการ ทำให้การปลูกทุเรียนตั้งแต่ต้นเล็ก มีโอกาสรอดสูง ต้นแตกใบอ่อนเจริญงอกงามดี สำหรับต้นทุเรียนที่ให้ผลแล้ว สามารถแก้ปัญหาเรื่องรากเน่าโคนเน่าได้อย่างถาวร เนื้อทุเรียนไม่เป็นไส้ซึม ประหยัดต้นทุนการผลิตกว่าร้อยละ 60-80 ขณะที่ยังได้ปริมาณผลผลิตเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม เนื่องจากสามารถลดการใช้สารเคมีลงได้กว่าร้อยละ 80
และเมื่อแก้ปัญหา และทำให้ต้นทุเรียนสมบูรณ์ได้แล้ว ต่อไปคือการพัฒนาผลทุเรียนให้มีคุณภาพสูงด้วยนวัตกรรมการให้น้ำและธาตุอาหารแบบลุ่มน้ำ (basin fertigation) ที่ถอดรหัสไขความลับการผลิตไม้ผลเขตร้อนที่บรรพชนทิ้งไว้ให้จากประโยคเดียวว่า “ปลูกไม้ผลให้ปลูกขอบสระ”
นักวิจัยจึงได้ทำการศึกษาการสังเคราะห์แสง และการปิดเปิดปากใบตลอดทั้งวันของต้นทุเรียน สภาพความเครียดจากน้ำ จนเกิดองค์ความรู้ใหม่ ที่ทำให้ต้นทุเรียนสามารถสังเคราะห์แสงได้มากขึ้น จากปกติเฉลี่ยทั้งปีวันละ 3-4 ชั่วโมง เป็นวันละ 6-8 ชั่วโมง ส่งผลให้ทุเรียนหมอนทองอายุ 90-95 วัน มีร้อยละน้ำหนักแห้งของเนื้อ (%DM) ประมาณ 35 ทั้งที่ก่อนหน้านั้นต้องใช้เวลาถึง 110-115 วัน ทั้งยังส่งผลให้เนื้อทุเรียนโดยเฉพาะพันธุ์หมอนทองที่เป็นพันธุ์การค้าหลัก มีรสชาติและเนื้อสัมผัสดีขึ้นมาก
โดยเนื้อสัมผัสมีลักษณะเหนียวเนียนละเอียดเป็นครีม รสชาติหวานมันเข้มข้น มีกลิ่นหอมดอกไม้ เส้นใยอ่อนนุ่ม ให้ความรู้สึกเหมือนกินทุเรียนพันธุ์ก้านยาวทำให้ผู้บริโภคติดใจในรสชาติอย่างมากจนบอกต่อๆ กัน เกษตรกรสวนที่ให้ความร่วมมือเป็นแปลงทดลอง ทุเรียนไม่พอขายต้องจองกันข้ามปีทีเดียว
และผลจากการนำนวัตกรรมทั้งสองอย่างข้างต้นเผยแพร่เพื่อให้เกษตรที่สนใจนำไปทดลองในแปลงของตนเองระหว่างปี 2565-2566 ที่ผ่านมา ได้เกิดกลุ่มผู้ผลิตวิถีทุเรียนอร่อย ที่มีเกษตรกรทุกภาคสนใจมาร่วมอบรมและเข้ากลุ่มกว่า 100 ราย

นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ ช่วยยืดอายุทุเรียน ยกระดับทุเรียนไทย ส่งออกได้เป็น ทุเรียนโลก

เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ เกิดจากการนำปัญหาที่พบในภาคอุตสาหกรรมการส่งออกผลไม้ไทย มาเป็นโจทย์ในการทำวิจัย โดยทีมผู้วิจัยจาก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ร่วมมือกับ บริษัท จอยเอ็นโค จำกัด ได้ดำเนินธุรกิจร้านค้าปลีกสินค้าไทย และร้านอาหารไทย The Flying Thai Food ในประเทศจีน ซึ่งผลไม้ไทยเป็นที่นิยมมากในจีน โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งที่ผ่านมามีต้นทุนความสูญเสียระหว่างการขนส่งค่อนข้างสูง โดยเกิดจากปัญหาผลแตกขณะขนส่งและปัญหาความสุกอ่อนของทุเรียนที่ไม่เหมาะสมเมื่อถึงจีน ทางบริษัทจึงได้เริ่มมองหางานวิจัยและติดต่อไปยังมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เพื่อช่วยกันพัฒนาบรรจุภัณฑ์นี้ขึ้น
โดยจุดเด่นของงานวิจัยนี้ คือ การใช้เทคนิค Active Coaching Packaging ที่ทำให้สามารถช่วยชะลอการสุกของผลไม้ได้ โดยสามารถยืดอายุทุเรียนได้นานถึง 30 – 45 วัน จากเดิมที่นำทุเรียนเข้าไปขายในประเทศจีนและอยู่ได้เพียง 3 – 5 วัน เท่านั้น ช่วยลดปัญหาผลของทุเรียนแตกขณะขนส่งได้ โดยมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 15 – 20 บาท/ชิ้น
แต่อย่างไรก็ดี บรรจุภัณฑ์ดังกล่าว อาจมีต้นทุนสูงหากนำมาประยุกต์ใช้เพื่อจำหน่ายในประเทศ แต่เมื่อหากนำไปประยุกต์ใช้ในการส่งออกผลไม้สดพร้อมทานไปยังต่างประเทศ ถือได้ว่าคุ้มค่าในการนำไปใช้เนื่องจากสามารถช่วยลดต้นทุนการสูญเสียขณะขนส่งได้ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย

แอปพลิเคชันควบคุมระบบการให้น้ำทุเรียนผ่านสมาร์ทโฟน

กรมวิชาการเกษตร โดย สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชได้นำเทคโนโลยี Smart Sensors และระบบ IoTs มาประยุกต์ใช้ร่วมกับการบูรณาการองค์ความรู้ตลอดกระบวนการการผลิตพืช องค์ความรู้ด้านวิศวกรรม และองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งของหน่วยงานภายในและต่างประเทศ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้แนวทาง “รูปแบบ (Model) การเกษตรอัจฉริยะ เพื่อการผลิตพืชของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ทั้ง 8 ด้าน
ประกอบด้วย เทคโนโลยีด้านดิน เทคโนโลยีด้านพืชและอารักขาพืช เครื่องจักรกลการเกษตร การให้น้ำ เทคโนโลยีดาวเทียมและอากาศยานไร้คนขับ อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoTs) Big Data Platform และระบบช่วยตัดสินใจการผลิตพืช มายกระดับกระบวนการผลิตทุเรียน
การดำเนินงานดังกล่าวเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต ตลอดจนการใช้ทรัพยากรในการผลิตพืชให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านการตรวจวัดจากเซนเซอร์ทางการเกษตร ประมวลผล และควบคุมอัตโนมัติในการผลิต ตลอดจนการพัฒนาแอปพลิเคชันที่รองรับการทำการเกษตรให้กับเกษตรกร สำหรับการขยายผลเชิงพื้นที่ และเป็นต้นแบบการพัฒนาสู่พืชชนิดอื่นต่อไป เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นด้วยการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร ตามนโยบายการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โครงการได้ดำเนินการจำนวน 2 แปลง ณ อ.นายายอาม และ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี แอปพลิเคชันควบคุมระบบการให้น้ำทุเรียนผ่านสมาร์ทโฟน สามารถควบคุมการปิด-เปิดปั๊มน้ำ ควบคุมการปิด-เปิดโซลินอยด์วาล์วของประตูน้ำภายในสวนทุเรียน Dashboard การผลิตทุเรียน ที่แสดงค่าสถานะต่างๆ ภายในแปลงปลูก เช่น ระยะการเจริญเติบโตและการพัฒนาของทุเรียน ข้อมูลสภาพอากาศ คำแนะนำการดูแลรักษาทุเรียน ด้านการจัดการศัตรูพืช ธาตุอาหารพืช น้ำ สถานะการทำงานของอุปกรณ์เซนเซอร์ทางการเกษตรภายในแปลง
รวมถึงการบันทึกกิจกรรมภายในแปลงปลูก เพื่อนำไปพัฒนาระบบช่วยวางแผนการผลิตทุเรียนต่อไปในอนาคต รวมทั้งยังได้พัฒนาแอปพลิเคชัน RainReport ที่สามารถรายงานการพยากรณ์การตกของฝนและสภาพอากาศภายในแปลงปลูกแบบระบุพิกัด ล่วงหน้า 2 วัน และการใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ เพื่อสำรวจการเข้าทำลายของศัตรูพืชและการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบแม่นยำเฉพาะจุด การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุเรียนด้วยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ ทำให้เกษตรกรมีข้อมูลสภาพแวดล้อมภายในแปลงปลูก เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจการวางแผนจัดการสวน

Magik Growth ถุงห่อทุเรียน

Magik Growth นวัตกรรมถุงห่อทุเรียน ลดสารเคมี สร้างสุขภาพดีให้ชาวสวน

ดร.ณัฐภพ สุวรรณเมฆ นักวิจัยทีมวิจัยสิ่งทอ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(MTEC) สวทช. ผศ.ดร.ลำแพน ขวัญพูล อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ นวลนภา เจริญรวย เจ้าของสวนทุเรียน “สวนสไตล์ช้าลฮิ” อำเภอแกลง จังหวัดระยองได้ร่วมเสวนาออนไลน์ถึงงานวิจัยที่ได้รับการต่อยอดมาใช้จริง ในหัวข้อ “นวัตกรรมถุงห่อทุเรียน Magik Growth เพื่อชาวสวนยุคใหม่ ลใช้สารเคมี” ภายใต้ใครงการการขยายผลนวัตกรรมถุงห่อผลไม้นอนวูฟเวนเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตชาวสวนทุเรียน
ดร.ณัฐภพ สุวรรณเมฆ นักวิจัยทีมวิจัยสิ่งทอ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูงศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช.
ดร.ณัฐภพ สุวรรณเมฆ นักวิจัยทีมวิจัยสิ่งทอ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูงศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า
“ในปี พ.ศ. 2564 ทุเรียนเป็นพืชส่งออกอันดับ 2 รองจากยางพารา โดย การส่งออกทุเรียนสดและแช่แข็งตลอดเดือนมกราคม-พฤษภาคมที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 58,344 ล้านบาท แต่ชาวสวนทุเรียนยังประสบปัญหาทั้งเรื่องโรคแมลงศัตรูพืชและสัตว์กัดแทะที่ทำลายทุเรียนในระยะพัฒนาผลจนเกิดความเสียหาย ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่แก้ปัญหาโดยใช้สารเคมียาฆ่าแมลงในการฉีดพ่นซึ่งนอกจากจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเกิดปัญหาสุขภาพตามมาอีกด้วย”
“เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. จึงนำองค์ความรู้เรื่องวัสดุศาสตร์ โดยพัฒนา สูตรผสมเม็ดพลาสติก (Polymer Compound) ร่วมกับเทคโนโลยีการขึ้นรูปนอนวูฟเวน เพื่อให้วัสดุนอนวูฟเวนมีสมบัติให้นํ้าและอากาศผ่านเข้าออกได้โดยง่าย รวมถึงมีสมบัติการคัดเลือกช่วงแสงที่เหมาะสมกัเซลล์รับแสงที่ผิวผลไม้ โดยได้ผลิตเป็นนวัตกรรมวิจัยต้นแบบ ชื่อทางการค้าว่า “Magik Growth” หรือ นวัตกรรมถุงห่อผลไม้นอนวูฟเวน”

ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://www.salika.co/2024/02/01/durian-innovation-make-thai-durian-go-inter/