Search
Close this search box.

ชวนเกษตรกรตัดอ้อยสด ลดการเผา ลดปัญหาฝุ่น PM2.5

share to:

Facebook
Twitter

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาร่วมขับเคลื่อนแก้ปัญหามลพิษฝุ่นละออง ทั้งการรณรงค์และควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงสร้างความชุ่มชื้นพื้นที่สำหรับป้องกันไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน ส่งเสริมโครงการส่งเสริมการไถกลบและผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนสนับสนุนให้เกษตรกรนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาสร้างมูลค่าเพิ่มทดแทนการเผาทิ้ง

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มีการศึกษาวิจัยการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทดแทนการเผา เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมตามแนวทางขับเคลื่อนภาคเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model เรื่องการบริหารจัดการชีวมวลอ้อยที่เหมาะสมของเกษตรกร เนื่องจากสินค้าอ้อย มีประเด็นปัญหาอ้อยไฟไหม้ ซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเผาใบอ้อยและยอดอ้อยที่เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ทั้งนี้ ปัญหาฝุ่น PM2.5 จะเกิดในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน – เดือนมีนาคม ของทุกปี ซึ่งจะตรงกับช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวอ้อยของชาวไร่อ้อยด้วยเช่นกัน

การศึกษาครั้งนี้เพื่อศึกษาแนวทางการบริหารจัดการชีวมวลจากใบและยอดอ้อยหลังการเก็บเกี่ยวของเกษตรกร จัดเก็บข้อมูลสอบถามเกษตรกรที่ตัดอ้อยสดทั่วประเทศ ปี 2564/65 กลุ่มตัวอย่าง รวม 1,080 ราย ผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ ใช้แรงงานคนตัดอ้อยสด โดยหลังจากที่เกษตรกรตัดอ้อยสดเรียบร้อยแล้ว เกษตรกรมีการจัดการชีวมวลอ้อยหลังการเก็บเกี่ยวด้วยวิธีการนำใบและยอดอ้อยไปคลุมดิน หรือไถกลบในช่วงเตรียมดินเพื่อปลูกอ้อยในปีถัดไป นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิธีการจัดการชีวมวลอ้อย พบว่า วิธีการใช้ใบและยอดอ้อยคลุมดิน เพื่อเป็นธาตุอาหารเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และความชุ่มชื้นให้แก่ดิน เป็นวิธีที่เหมาะสม อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนปัจจัยการผลิตค่าปุ๋ยและยากำจัดวัชพืช รองลงมาคือ การขายใบและยอดอ้อยเพื่อเป็นเชื้อเพลิงให้แก่โรงไฟฟ้าชีวมวล ถือเป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน เนื่องจากมีความคุ้มค่าและเหมาะสมกับเกษตรกรที่ต้องการเอาใบอ้อยออกจากแปลง จึงควรผลักดันให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อบริหารจัดการชีวมวลอ้อยที่เหมาะสมกับพื้นที่ พัฒนาให้มีผู้ให้บริการด้านเครื่องจักรกลทางการเกษตร เพื่อจัดการชีวมวลอ้อย ทดแทนแรงงาน และเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ขาดแคลนเพื่อลดการเผาและสามารถนำชีวมวลอ้อยไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมเกษตรหรือสร้างรายได้ควบคู่กับการลดผลกระทบการปลดปล่อย PM2.5 จากการเผาอ้อย ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

 

ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230224110812201