Search
Close this search box.

“Low Carbon Event” พลิกปัญหา Climate change เป็นโจทย์การจัดอีเวนต์ยุคใหม่ ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เคย

share to:

Facebook
Twitter

ภาวะโลกเดือด และ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นปัญหาสำคัญที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้า และมีความพยายามที่จะปรับทุกกิจกรรมให้สอดคล้องกับเทรนด์การลดคาร์บอนให้ได้มากที่สุด อย่างการจัดอีเวนต์ก็เช่นกัน เนื่องจากในการจัดกิจกรรมหรืออีเวนต์หนึ่งครั้งนั้น ปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณไม่น้อย

เพราะถ้าอ้างอิงตามงานวิจัยของ Julie’s Bicycle ซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2553 ได้ประมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการจัดคอนเสิร์ตในสหราชอาณาจักรว่าอยู่ที่ 405,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี โดยกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) มากที่สุด คือ การใช้พลังงงานของสถานที่จัดงาน และการเดินทางของผู้ชม

ด้วยเหตุนี้ สิ่งหนึ่งที่ควรต้องทำ คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต ให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น รวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริม และสร้างจิตสำนึกในการวางแผนเพื่อลดการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” ที่เป็นตัวการสำคัญในการก่อมลพิษ ด้วยการวางแผนจัด Low Carbon Event

เพื่อทำความเข้าใจและนำไปสู่การปรับใช้จริง วันนี้เราจึงขอมาอัปเดตการจัดอีเวนต์แบบรักษ์โลกในแง่มุมที่น่าสนใจ

Q&A ตอบทุกคำถาม Low Carbon Event คืออะไร เราจะวางแผนจัดอีเวนต์สีเขียวนี้ได้อย่างไร?

Q : Low Carbon Event คืออะไร
A : Low Carbon Event คือ การจัดอีเวนต์ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เน้นดำเนินการแบบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมลพิษทางอากาศ โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพ ทุกขั้นตอนจะต้องมีการวางแผน เพื่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ แต่ยังคงไว้ซึ่งความน่าสนใจของการจัดงานนั้น ด้วยการกำหนดแนวทางต่างๆ เช่น การบริหารจัดการพลังงาน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานหมุนเวียน การจัดการขยะและวัสดุเหลือใช้ อย่างรัดกุม เป็นต้น

Q : Low Carbon Event และ Carbon Neutral Event ต่างกันอย่างไร
A : ดังที่เกริ่นข้างต้นไปว่า Low Carbon Event เป็นการจัดกิจกรรมที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมลพิษทางอากาศ ทุกขั้นตอนจะต้องมีการวางแผน เพื่อให้เกิดการก่อคาร์บอนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้
ส่วน Carbon Neutral Event เป็นการจัดงานที่มีเป้าหมายในการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์” โดยหลังจากคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการจัดงานทั้งหมดแล้ว จะชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา ด้วยการปลูกต้นไม้ หรือลงทุนในโครงการลดก๊าซเรือนกระจก (ซื้อคาร์บอนเครดิต) เพื่อให้ผลรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทั้ง 2 อย่างนี้ก็ล้วนก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน

ประโยชน์ของการจัดอีเวนต์คาร์บอนต่ำคืออะไร?
การจัดกิจกรรมแบบ Low Carbon นั้นเป็นประโยชน์หลายด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงประโยชน์ต่อองค์กรหรือหน่วยงาน ที่จัดกิจกรรม ดังนี้

ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม

  • ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการคำนึงถึงการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งส่วนของการจัดงาน การพักแรม การใช้เชื้อเพลิงสำหรับการเดินทางของผู้เข้าร่วมงาน การใช้พลังงานในการปรุงอาหาร การจัดการขยะ เพื่อให้เกิดความสิ้นเปลือง และผลกระทบน้อยที่สุด
  • ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อันเนื่องจากลดการใช้แหล่งพลังงานต่างๆ เช่น ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง เพื่อเดินทาง หรือ การใช้ปริมาณไฟฟ้าลดลง ทำให้ลดการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ได้
  • ลดมลพิษทางอากาศและเสียง เนื่องจากการจัดงาน มีกิจกรรมที่ต้องใช้เสียงจำนวนมาก อาทิ งานคอนเสิร์ต งานออกร้าน งานแสดงสินค้า เป็นต้น และการเข้าร่วมงานของผู้สนใจ หรือกลุ่มเป้าหมายของการผู้จัดงาน จำเป็นต้องอาศัยการเดินทางเข้าร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว หรือยานพาหนะอื่นๆ ล้วนจำเป็นก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศทั้งสิ้น การจัด Low Carbon Event ที่มุ่งเน้นไปที่การลดกิจกรรมดังที่กล่าวมา ย่อมก่อให้เกิดการลดมลพิษต่างๆ ตามมาด้วย

ประโยชน์ต่อองค์กรหรือหน่วยงาน

  • สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่องค์กรมีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตรงกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางของสหประชาชาติ และองค์กรต่างๆ ทั่วโลก
  • เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน จากหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน เนื่องจากปัจจุบันแหล่งทุนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างให้ความสำคัญกับการดำเนินงาน หรือกิจกรรมในลักษณะ Low Carbon ที่สอดคล้องกับกิจกรรมเป้าหมายของ Sustainable Development Goals ที่สหประชาชาติกำหนดขึ้น หรือความสอดคล้องกับกองทุน SEG หรือกองทุนรวมเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสังคม (Sustainable and Environmentally Focused Fund) เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) เป็นหลัก
  • เพิ่มความคุ้มค่าต่อค่าใช้จ่าย จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงานต่างๆ อย่างคุ้มค่า โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนค่าใช้จ่ายทุกๆ 1 บาท เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น หรือการเลือกใช้พลังงานไฟฟ้า จากแหล่งผลิตจากธรรมชาติ เช่น พลังงานลม หรือพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น

สัดส่วนรอยเท้าคาร์บอนที่เกิดจากการจัดคอนเสิร์ตในสหราชอาณาจักร (ที่มาภาพ : https://www.bbc.com/news/science-environment-50562183)

เปิดต้นแบบการจัดคอนเสิร์ตรักษ์โลก และแนวทางการจัดคอนเสิร์ตคาร์บอนต่ำ

เพื่อเป็นตัวอย่างของการจัดคอนเสิร์ตคาร์บอนต่ำ บทความเรื่อง “คอนเสิร์ตรักษ์โลก: แนวทางการจัดคอนเสิร์ตคาร์บอนต่ำ” โดย ศิวัช อ่วมประดิษฐ์ ได้บอกเล่าถึงโมเดลการจัดคอนเสิร์ตคาร์บอนต่ำที่เกิดขึ้นในต่างประเทศตั้งแต่ปี 2564 โดยค่ายเพลง Beggars Group และ Ninja Tune รวมถึงศิลปิน Massive Attack

Beggars Group เป็นค่ายเพลงในสหราชอาณาจักรซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2516 และมีค่ายเพลงย่อยที่เป็นที่รู้จักกันดี โดยเฉพาะในกลุ่มคนฟังเพลงอินดี้ ได้แก่ 4AD, Matador, Rough Trade Records, XL Recordings และ Young

ทั้งนี้ Beggars Group ประกาศคำมั่นว่าจะเป็นธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนเป็นลบ (Carbon Negative) สำหรับการดำเนินธุรกิจในสหราชอาณาจักรภายในปี 2565 และภายในปี 2567 สำหรับการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมถึงกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัท ค่ายเพลงย่อย ตลอดจนห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง ในอัตราร้อยละ 46 ภายในปี 2573 (เทียบกับปีฐาน 2562) เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ต้องการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกินร้อยละ 1.5 เทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม

Massive Attack เรียกร้องให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรส่งเสริมสนับสนุนแนวทางการจัดคอนเสิร์ตคาร์บอนต่ำ (ที่มาภาพ: https://djmag.com/news/massive-attack-call-uk-government-help-cutting-carbon-footprint-live-music)

และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว บริษัทได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เช่น การลดการใช้พลังงานและไฟฟ้า การติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่อาคารสำนักงานใหญ่ การใช้เทคโนโลยีที่ลดการปล่อยคาร์บอนในการผลิตซีดีและแผ่นเสียง การบริหารจัดการโลจิสติกส์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การลดการเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจ รวมถึงการสร้างความตระหนักด้านความยั่งยืนให้กับบุคลากรของบริษัท

ส่วนในกรณีที่บริษัทไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ บริษัทก็จะลงทุนเพิ่มเติมในโครงการที่ป้องกันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงโครงการที่ช่วยลดหรือกักเก็บคาร์บอนเพิ่มเติม นอกจากนี้ บริษัทยังประกาศว่าจะเปิดเผยรายงาน Emission Inventory Report ทุกปี เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในการดำเนินการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกด้วย

แนวคิดดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการดนตรี มีศิลปินหรือวงดนตรีหลายวงให้ความสำคัญกับการทัวร์คอนเสิร์ตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตัวอย่างเช่น Billie Eilish ศิลปินจากสหรัฐอเมริกา ประกาศว่าทัวร์คอนเสิร์ตของเธอจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด โดยยกเลิกการใช้หลอดพลาสติก และกระตุ้นให้แฟนเพลงนำขวดน้ำมาเอง

นอกจากนี้ แผนปฏิบัติการเพื่อจัด คอนเสิร์ตคาร์บอนต่ำ ยังระบุชัดเจนว่าการลดการปล่อยคาร์บอนในการจัดคอนเสิร์ตเป็นหน้าที่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ค่ายเพลง ผู้จัดงานคอนเสิร์ต/เทศกาลดนตรี เจ้าของสถานที่จัดงาน ผู้ชม ไปจนถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยมีแนวปฏิบัติเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน เช่น

  • การเลือกสถานที่จัดคอนเสิร์ตที่มีมาตรการลดการใช้พลังงานของอาคาร สถานที่มีระบบและเครื่องมืออุปกรณ์ติดตั้งพร้อมใช้ (Plug and Play) เพื่อลดการขนย้ายให้มากที่สุด รวมถึงมีการติดตั้งและใช้พลังงานหมุนเวียน
  • การออกแบบการแสดงที่ลดการติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ หรือการเช่าเครื่องมืออุปกรณ์จากผู้ให้บริการในพื้นที่ เพื่อลดการขนย้าย
  • การลดคาร์บอนจากการเดินทางของศิลปิน/วงดนตรี ทั้งการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า การยกเลิกเครื่องบินส่วนตัว การวางแผนเส้นทางทัวร์คอนเสิร์ตที่ลดการปล่อยคาร์บอนจากการเดินทางให้มากที่สุด
  • การประสานกับหน่วยงานหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เพื่อพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย เข้าถึงได้ การสร้างแรงจูงใจให้ผู้ชมเลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และสร้างประสบการณ์การเดินทางให้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดง
  • การจัดตั้งกองทุนและการส่งเสริมให้สถานที่จัดงานสามารถปรับปรุงการใช้พลังงานได้ รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตให้แก่สถานที่จัดงานที่มีการจัดทำแผนพัฒนาปรับปรุงการใช้พลังงานแบบรายปี

ที่มาภาพและข้อมูล / สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.salika.co/2024/01/15/low-carbon-event-trends-2024/