Search
Close this search box.

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่วิทยาลัยชุมชนบุรีรัมย์ ตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงาน พร้อมรับทราบปัญหาในพื้นที่เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปพิจารณาในระดับนโยบาย

share to:

Facebook
Twitter

เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 66 นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ลงพื้นที่วิทยาลัยชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงาน พร้อมรับทราบปัญหาในพื้นที่เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปพิจารณาในระดับนโยบาย โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ น้อย สุปิงคลัด ประธานสภาวิทยาลัยชุมชนบุรีรัมย์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒินันท์ รามฤทธิ ผอ.วิทยาลัยชุมชนบุรีรัมย์ และคณะครู อาจารย์ให้การต้อนรับ

โดยในที่ประชุมได้มีการรายงานผลงานที่วิทยาลัยชุมชน ได้ร่วมกับคนในชุมชนจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มเปราะบาง รวมถึงประชาชนทุกเพศทุกวัย เช่น โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วย BCG, การสำรวจและวิเคราะห์จัดกลุ่มช่างศิลป์ท้องถิ่น, การพัฒนาตำรับสเปรย์สมุนไพรที่ช่วยบรรเทาอาการข้อเข่าเสื่อม และโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง พร้อมลงพื้นที่โครงการจัดการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์บ้านสวายสอแบบยั่งยืนและโครงการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนด้วยการบริหารจัดการเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร เพื่อตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจในการพัฒนา

นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ เปิดเผยว่า กระทรวง อว. มีนโยบายในการยกระดับ การศึกษาและอาชีพให้เข้าถึงคนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยมีการพัฒนาร่วมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งวิทยาลัยชุมชน เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่จะช่วยลดช่องว่างทางการศึกษาที่มักเกิดขึ้นกับกลุ่มคนชายขอบ เนื่องจากวิทยาลัยชุมชนนั้นอยู่ในพื้นที่ มีหลายหลักสูตร ตั้งแต่ระดับอนุปริญญา ถึงประกาศนียบัตร นอกจากนี้ยังมีการจัดฝึกอบรมทักษะด้านอาชีพในระยะสั้น เพียงชั่วโมงละ 1 บาทเท่านั้น

สำหรับวิทยาลัยชุมชนในประเทศไทย มีทั้งหมด 21 แห่ง ในจังหวัดบุรีรัมย์ มีวิทยาลัยชุมชนถึง 8 แห่ง หลังจากนี้จะมีการกระจายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่มากยิ่งขึ้น และมีนโยบายนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นหลักสูตร เพื่อสืบสานภูมิปัญญา พัฒนาอัตลักษณ์ให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้น และดึงปราชญ์ชาวบ้านเข้ามาเป็นวิทยากร เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

 

ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230213212852755