Search
Close this search box.

นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ จันทบุรี ระยอง สั่งการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งระยะสั้น และระยะยาวอย่างยั่งยืน

share to:

Facebook
Twitter

พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ

การลงพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศ ณ จังหวัดจันทบุรีและระยองเมื่อวานนี้ (22 ก.พ.66) ผมมีความตั้งใจที่จะเร่งรัดการแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และติดตามความก้าวหน้าโครงการที่ได้อนุมัติให้ดำเนินการไป ได้แก่

1. การแก้ปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเล บริเวณตำบลเกาะเปริด อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ระยะทางประมาณ 1.7 กิโลเมตร ซึ่งเปราะบางต่อการกัดเซาะเฉลี่ย 2.46 เมตรต่อปี โดยผมได้สั่งการให้เร่งบูรณาการทุกหน่วยงาน เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนในจุดวิกฤตก่อนภายใน 3 เดือน สำหรับการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนนั้น ได้มีการออกแบบโครงการป้องกันชายฝั่งไว้แล้ว รัฐบาลจะได้นำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการตามแผนต่อไป

2. การติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอาคารจอดรถ 10 ชั้น เพื่ออำนวยความสะดวก แก่ผู้มาใช้บริการโรงพยาบาลพระปกเกล้า อำเภอเมืองจันทบุรี ซึ่งได้รับการร้องเรียนเรื่องที่จอดรถมีไม่เพียงพอ กระทบต่อประสิทธิภาพการให้บริการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วย-ผู้สูงอายุ-ผู้พิการ-เด็ก และผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนงบประมาณผูกพัน ปี 2566-2567 ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง

3. การแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน เขตอำเภอเมืองจันทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ราชพัสดุ แต่ประชาชนได้อาศัยทำกินมาเป็นระยะเวลานาน โดยแนวทางแก้ปัญหาที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผ่อนปรนให้ใช้ประโยชน์ ด้วยการให้เช่าในอัตราพิเศษ ปัจจุบันได้สิ้นสุดระยะเวลาผ่อนปรนแล้ว แต่ยังมีประชาชนบางส่วนที่ต้องการจะอยู่ต่อ ซึ่งผมก็เห็นใจ จึงได้สั่งการให้หาแนวทางที่เหมาะสม เพื่อยุติปัญหาให้ได้โดยเร็วตามกรอบของกฎหมาย

นอกจากนั้น ผมได้รับเกียรติให้เป็นประธานในพิธีเปิด “งานมหกรรมยางพาราและพืชเศรษฐกิจ EEC 2023” โดยได้รับทราบว่า มีการปรับตัวอย่างมากมายของเกษตรกร ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และนโยบายรัฐบาล เช่น ระบบเกษตรสุขภาพรักษ์สิ่งแวดล้อม โดย มีการนำนวัตกรรมการตรวจวัดคาร์บอนเครดิตมาใช้ในสวนยาง พร้อมก้าวสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิต สร้างรายได้เสริมให้แก่ชาวสวนยางอีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับการส่งเสริมให้มีการผลิตและใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ยางพารา แทนการส่งออกเป็นวัตถุดิบนั้น หนึ่งในมาตรการสำคัญ คือ รัฐบาลได้ผลักดันโครงการจัดตั้ง “ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ” ภายในพื้นที่ EEC ที่จะมาตอบโจทย์นี้ ไม่เพียงแต่เรื่องการผลิตยางล้อ ทดสอบและรับรองคุณภาพได้เอง ไปจนถึงการส่งออกยางล้อจากยางพาราของไทยในเชิงอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงการทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งสอดรับกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำในภูมิภาคเรื่อง EV ในวันข้างหน้า โดยผมมั่นใจว่าการสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) เหล่านี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นให้อุตสาหกรรม EV – ยางล้อ – ชิ้นส่วนอะไหล่ – แบตเตอรี่ และที่เกี่ยวเนื่องกัน ได้เติมใหญ่ สร้างอาชีพใหม่ สร้างรายได้สูง เป็นความหวังใหม่ ให้กับคนไทยในอนาคตได้ครับ

 

ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://www.facebook.com/prayutofficial/posts/740682197428629