Search
Close this search box.

นายกฯ ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดนครสวรรค์ ติดตามการบริหารจัดการน้ำ บึงบอระเพ็ด “สี่แควโมเดล” และความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล

share to:

Facebook
Twitter

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดนครสวรรค์ ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำ บึงบอระเพ็ด “สี่แควโมเดล” ขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้าในระดับพื้นที่ ณ วัดดงแม่นางเมือง และติดตามการพัฒนาความมั่นคงด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต โรงพยาบาลบรรพตพิสัย

วันที่ 30 มกราคม 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดนครสวรรค์ ณ สันฝ่ายเก่าบึงบอระเพ็ด พื้นที่หมู่ 8 ตำบลหนองปลิง และหมู่ 1 ตำบลพระนอน อำเภอเมืองนครสวรรค์ โดยมี นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ให้การต้อนรับและรายงานความเป็นมาแนวทางการบริหารจัดการน้ำ “สี่แควโมเดล” และ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำเสนอแนวทางการบริหารจัดการน้ำภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการหน่วงน้ำช่วงฤดูน้ำหลากในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

“สี่แควโมเดล” เป็นการร่วมมือกันของจังหวัดนครสวรรค์ พิษณุโลก พิจิตร และสุโขทัย ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 ได้มีการประชุมปฏิบัติการถอดบทเรียนจากบางระกำโมเดลสู่สี่แควโมเดล เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่หน่วงน้ำอย่างเต็มรูปแบบ ได้แก่ การพัฒนาระบบปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่หน่วงน้ำ การติดตั้งระบบควบคุมน้ำและระบบติดตามระดับน้ำ การเสริมคันและเส้นทางคมนาคมเพื่อปิดล้อมพื้นที่สำคัญ การปรับปรุงโครงข่ายระบบกระจายน้ำ การจัดหาแหล่งกักเก็บน้ำ ตลอดจนการพัฒนาแนวทางยกระดับรายได้เกษตรกรรม การเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกร และการส่งเสริมการประกอบอาชีพในฤดูน้ำหลาก โดยดำเนินการพัฒนาพื้นที่หน่วงน้ำใน 8 พื้นที่ ระหว่างปี พ.ศ.2566-2568 เป็นพื้นที่เกษตรกรรมลุ่มต่ำ 1.3 ล้านไร่ รวมได้ปริมาณน้ำ 1,680 ล้าน ลบ.ม. เป็นปริมาณการหน่วงน้ำในจังหวัดนครสวรรค์ 1,080 ล้าน ลบ.ม. และอีก 600 ล้าน ลบ.ม. อยู่ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร และหากรวมพื้นที่ในโครงการชลประทานที่อยู่เหนือจังหวัดนครสวรรค์แล้วจะสามารถรับน้ำได้รวม 3,000 ล้าน ลบ.ม.

แนวคิด “สี่แควโมเดล” ในการเป็นทุ่งหน่วงน้ำเพื่อประโยชน์ทั้งทางด้านบรรเทาอุทกภัยและการสงวนน้ำต้นทุนเพื่อเกษตรกรรม ด้วยแนวทาง 3 ประการ คือ 1) เป็นพื้นที่เกษตรกรรมรับน้ำหลากที่น้ำท่วมโดยธรรมชาติ 2) เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำต้นทุนสามารถเริ่มเพาะปลูกก่อนและเก็บเกี่ยวให้ทันก่อนน้ำหลาก และ 3) เป็นพื้นที่เกษตรกรยินยอมมีส่วนร่วมและปรับตัวเพื่อสร้างความยั่งยืน

สำหรับในปี 2566 มีแผนดำเนินการพัฒนาพื้นที่หน่วงน้ำ ใน 4 พื้นที่ 5 อำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ ได้แก่ ชุมแสง เมืองนครสวรรค์ ตาคลี บรรพตพิสัย และเก้าเลี้ยว รวมทั้งบึงบอระเพ็ด และอีก 2 พื้นที่ในจังหวัดตอนบน และในปี 2567-2568 จะดำเนินการเพิ่มเติมอีก 2 พื้นที่ที่เหลือ คือ อำเภอโกรกพระ และ อำหนองบัว โดยใช้บทเรียนและผลสำเร็จของการดำเนินโครงการในปี 2566

สี่แควโมเดล ตอบโจทย์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ได้แก่ 1.ลดความเสียหายของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จากการหน่วงน้ำในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 2.สามารถควบคุมปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในปริมาณที่ควบคุมให้ไม่เกิน 2,000 ลบ.ม. ต่อวินาที เพื่อลดอุทกภัยในพื้นที่ตอนล่าง 3.ปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมที่ประสบอุทกภัยเป็นพื้นที่หน่วงน้ำและปรับปฏิทินการเพาะปลูก ให้เหมาะสม ลดความเสียหายของผลผลิตและค่าชดเชยเยียวยาพื้นที่เกษตรกรรมที่เสียหายจากน้ำท่วม (ภาพพื้นที่เกษตรกรรมและประมง) 4.เพิ่มศักยภาพพื้นที่เพาะปลูกข้าวฤดูแล้ง และเพิ่มรายได้ภาคการเกษตรในพื้นที่หน่วงน้ำจากการส่งเสริมอาชีพในช่วงน้ำหลาก เป็นการส่งเสริมการขับเคลื่อน BCG โมเดล ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์อีกทาง

โอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์จากบึงบอระเพ็ดและปลารสเด็ดปากน้ำโพ ร่วมกิจกรรมสาธิตการทำปลาเห็ด ซึ่งเป็นปลาที่หาได้จากชุมชนรอบบึงบอระเพ็ด ชมการใช้เทคโนโลยีการเกษตร การใช้โดรนพ่นสารชีวพันธุ์ และร่วมกิจกรรมปล่อยปลาลงบึงบอระเพ็ด ร่วมกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 แห่ง พร้อมพบปะประชาชนผู้ได้รับประโยชน์จากการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่บึงบอระเพ็ด

จากนั้นได้เดินทางไปยังวัดดงแม่นางเมือง หมู่ที่ 1 ตำบลตาสัง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ติดตามการขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้าในระดับพื้นที่ เป็นการขับเคลื่อนโครงการแก้จนในทุกมิติ ซึ่งเป็นโมเดลของจังหวัดนครสวรรค์ และสักการะหลวงพ่อโต นมัสการพระครูนิวาสบุญญากร เจ้าอาวาสวัดดงแม่ศรีเมือง ณ วิหารหลวงพ่อโต และรับฟังรายงานสรุปการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ “บึงบอน” อำเภอบรรพตพิสัย โดยโครงการขุดลอกแก้มลิงบึงบอน มีพื้นที่ประมาณ 389 ไร่ เก็บน้ำได้ประมาณ 1.25 ล้าน ลบ.ม. เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะมีพื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะสามารถรับประโยชน์ได้จากโครงการประมาณ 3,700 ไร่ ราษฎรได้รับประโยชน์ประมาณ 500 ครัวเรือน โดยใช้งบประมาณการก่อสร้าง 100 ล้านบาท

จากนั้นได้เดินทางต่อไปยังโรงพยาบาลบรรพตพิสัย ตำบลเจริญผล อำเภอบรรพตพิสัย ติดตามการพัฒนาความมั่นคงด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเดินทางต่อไปยังโรงพยาบาลบึงนาราง ตำบลบึงนาราง อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร ต่อไป

 

 

ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230130163920832