“ยกระดับ “กล้วย” ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน” พ่อเมืองนครพนม นำภาคีเครือข่ายถกแนวทางยกระดับ “กล้วย” สู่ความยั่งยืน ผ่านกระบวนการห่วงโซ่การผลิตกล้วย “จากใบตองกล้วยธรรมดา สู่มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ” หนุนเสริมการสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนสมาชิก
พ่อเมืองนครพนม นำภาคีเครือข่ายถกแนวทางยกระดับ “กล้วย” สู่ความยั่งยืน ผ่านกระบวนการห่วงโซ่การผลิตกล้วย “จากใบตองกล้วยธรรมดา สู่มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ” หนุนเสริมการสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนสมาชิก โคก หนอง นา ผู้ประกอบการ OTOP และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ เสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ส่งผลให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
วันนี้ (6 ม.ค. 67) นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า จังหวัดนครพนมได้จัดการประชุมเครือข่ายบูรณาการห่วงโซ่การผลิตกล้วย “จากใบตองกล้วยธรรมดาสู่มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ” ในการสร้างรายได้ครัวเรือน โคก หนอง นา ผู้ประกอบการ OTOP และกลุ่มเกษตรกรที่สนใจ ณ ห้องประชุมพระธาตุพนม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม (หลังใหม่) โดยมี นายชัยณรงค์ กาญจะนะกันโห พัฒนาการจังหวัดนครพนม นางวรนุช กรุงเกตุ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม ภาคีเครือข่ายภาควิชาการ และเครือข่ายนักรวบรวมผลผลิตทุกตำบล รวม 143 คน ร่วมประชุม
นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยภายใต้การนำของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มี 10 นโยบายเน้นหนัก เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยเป็นกลไกหลักของการทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทำให้ประชาชนมีความอุดมสมบูรณ์พูนสุขโดยถ้วนหน้า” โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายเน้นหนักข้อที่ 1 “การส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการสร้างรายได้โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และข้อที่ 8 คือ “การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก การผลิต การตลาด และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและสินค้าภูมิปัญญาไทย” โดยอาศัยกลไกในระดับพื้นที่ของกระทรวงมหาดไทยทั้งในท้องที่และท้องถิ่น รวมไปถึงแนวทางการขับเคลื่อนงานของนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่เน้นย้ำให้คนมหาดไทยในทุกพื้นที่ได้ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการเสริมสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ความยั่งยืน” ตามที่ได้มีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยมีผู้นำในทุกอณูของพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ที่เป็นกลไกมหาดไทยและเป็นกลไกหลักที่สำคัญในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ การสร้างความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมกับภาคีเครือข่าย เกิดเป็นพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนา และตอบโจทย์ตามความต้องการของพื้นที่ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี มีความอุดมสมบูรณ์พูนสุข ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
“การจัดประชุมเครือข่ายบูรณาการห่วงโซ่การผลิตกล้วย จาก “ใบตองกล้วยธรรมดา สู่มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ” ในการสร้างรายได้ครัวเรือน โคก หนอง นา ผู้ประกอบการ OTOP และกลุ่มเกษตรกรที่สนใจทั่วไปในครั้งนี้ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและนำเสนอข้อมูลสนับสนุนการขับเคลื่อนตามแนวคิดการตลาด โดยนำนวัตกรรมมาหนุนเสริม ก่อให้เกิดการเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรในจังหวัดนครพนม โดยมี ดร.คมศักดิ์ หารไชย อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม ซึ่งเป็นผู้นำภาคีเครือข่ายภาควิชาการร่วมนำเสนองานวิจัย เรื่อง “กล้วย” สู่เส้นทางกะละแมโบราณ พร้อมทั้งได้มีการนำเสนอฐานข้อมูลโคก หนอง นา โมเดล และพื้นที่การทำเกษตรอื่น ๆ เพื่อสร้างโอกาสการส่งเสริมการปลูกกล้วย และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและมาตรฐานใบตองรีด แนวทางการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยใช้เตารีดใบตอง เครื่องปั๊มใบตอง และการเชื่อมโยงเครือข่ายกลุ่มผู้ปลูกกล้วยตานีใช้ใบ กลุ่มผู้รีดใบตอง กลุ่มร้านค้าจำหน่ายกะละแม และกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดนครพนม” นายวันชัยฯ กล่าว
นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวต่ออีกว่า การบูรณาการรวมกลุ่มกันเป็นห่วงโซ่มูลค่าการผลิตกล้วย (Value Chain) จะเป็นการกระตุ้นความต้องการซื้อและความต้องการขาย ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน โดยชุมชนสามารถผลิตได้เองตั้งแต่กระบวนการ “ต้นน้ำถึงปลายน้ำ” โดยเริ่มจากต้นน้ำ คือ การปลูกต้นกล้วยไว้ในพื้นที่บริเวณโดยรอบที่พักอาศัยหรือแปลงสวนที่ว่าง เพื่อนำมาเป็นอาหารและใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ของต้นกล้วย กลางน้ำ คือ นำส่วนของต้นกล้วยมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) เช่น นำใบมาทำเป็นภาชนะใส่หรือห่ออาหาร นำผลกล้วยมาแปรรูปยืดระยะเวลารับประทาน นำต้นกล้วยมาเป็นอาหารสัตว์หรือแปรรูปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ปลายน้ำ คือ การรวบรวมและนำไปขายให้กับผู้ที่มีความต้องการซื้อ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะช่วยเพิ่มรายได้ ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ตามแบบโมเดล BCG หรือ Ecosystem ที่ชุมชนสร้างขึ้นเองและใช้กันเอง ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดขยะชุมชนและลดความสูญเปล่าได้
“ผลจากการประชุมในครั้งนี้ จังหวัดนครพนมจะได้บูรณาการส่วนราชการ และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน มาจัดทำแผนการขับเคลื่อนบูรณาการห่วงโซ่การผลิตกล้วย “จากใบตองกล้วยธรรมดา สู่มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ” โดยนำร่องการปลูกกล้วยในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ และครัวเรือนโคก หนอง นา รวมถึงกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ที่สนใจและมีความสมัครใจเข้าร่วมโครงการฯ โดยให้การสนับสนุนต้นกล้วยในการปลูกและจัดหาแหล่งรับซื้อ พร้อมจัดหาแหล่งงบประมาณมาสนับสนุนการดำเนินโครงการ เช่น งบพัฒนาจังหวัด การระดมทุนจากกองทุนชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตฯ การจัดทำผ้าป่า มาช่วยเหลือในการดำเนินโครงการ พร้อมส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน ทำให้พี่น้องประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนมดำเนินการทันที (Action Now) ร่วมกับพี่น้องเกษตรกร เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด อันจะทำให้เกิดการส่งเสริมเศรษฐกิจภาพรวม เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่งผลดีต่อพี่น้องประชาชนชาวนครพนมได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายวันชัยฯ กล่าวในช่วงท้าย
ที่มาภาพและข้อมูล / สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/77105