วันนี้ 27 กันยายน 2566 ที่ศาลาประชาคมตำบลวังไก่เถื่อน อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท สมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก ออกรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวรักษ์โลก BCG Model ของรัฐบาล สมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก นำโดย น.ท.ดร.ภณ (พะ-นะ) ทัพพินท์กร นายกสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก พร้อมด้วยนายสานิตย์ จิตต์นุพงษ์ ประธานที่ปรึกษาสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก ตรวจเยี่ยมโครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model ของรัฐบาล โดยมีนายภานุวัฒน์ อ่อนสง่า ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ตำบลวังไก่เถื่อน ร่วมการตรวจเยี่ยมพร้อมให้การต้อนรับ
โดยในเวลาต่อมาคณะตรวจเยี่ยมได้ลงพื้นที่นาของ นางปราณี เฉยทิม ในพื้นที่หมู่ที่ 4 ตำบลวังไก่เถื่อน อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท สมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลกได้พบปะรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ร่วมโครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model และแนะนำช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ตั้งแต่ปลูกจนถึงการขายข้าว ทำนาแบบเลิกใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี ยาฆ่าแมลง ทำให้ได้ข้าวที่ดีมีคุณภาพ ปลอดสารพิษ ดีต่อสุขภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพร้อมแนะนำให้ใช้จุลินทรีย์และสาหร่ายแกมเขียวมาผสมผสานในการเพาะปลูกเพื่อลดต้นทุนการผลิต
ทั้งนี้โครงการเกษตรรักษ์โลก เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยรัฐบาลไทย เพื่อส่งเสริมให้ภาคเกษตรกรรมของประเทศดำเนินไปอย่างยั่งยืน โดยยึดหลักเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ซึ่งประกอบด้วย 3 แนวทางหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการนำทรัพยากรชีวภาพมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน เศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งเน้นการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดการสูญเสียและลดการใช้ทรัพยากร และเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งเน้นการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของเกษตรกร รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและปลอดภัย โดยโครงการเกษตรรักษ์โลก มีแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและลดการใช้ทรัพยากร พัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำและดิน เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดการใช้สารเคมีและสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างตลาดสินค้าเกษตรที่เป็นธรรม เพื่อเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เกษตรกร โดยดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 10 จังหวัด ประกอบด้วย
ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย/กำแพงเพชร/พิษณุโลก/และนครสวรรค์
ภาคกลาง 3 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท/สิงห์บุรี/และลพบุรี
และภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และกระบี่
นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต ลดการใช้สารเคมี ผลผลิตข้าวในพื้นที่โครงการมีสารตกค้างต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด และมีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยยกระดับภาคเกษตรกรรมไทยให้เกิดความยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โครงการดังกล่าวจะยังผลให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประเทศชาติในระยะยาว อีกด้วย
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230927175002974