นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 (MMRF5) ร่วมกับสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ ณ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการร่วมกันจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ด้วยการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่มีอยู่มุ่งสู่เป้าหมายการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยอาศัยการสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันสู่ความสมดุล เนื่องจากป่าไม้มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ส่งเสริมโอกาสการค้าไม้และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างถูกกฎหมาย ช่วยสร้างรายได้ให้กับเขตเศรษฐกิจและประชาชนในท้องถิ่น ควบคู่กับร่วมกันต่อสู้กับกลุ่มที่ลักลอบตัดต้นไม้และการค้าไม้ผิดกฎหมาย พร้อมส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นที่จะนำไปสู่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในแต่ละประเทศ และรักษาความสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพที่นำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนกลุ่มสมาชิกเอเปคในอนาคต เพื่อลดผลกระทบที่รุนแรงจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) และภาวะโลกร้อน (Global warming)
ประเทศไทยได้นำเสนอให้เขตเศรษฐกิจพิจารณานำหลัก BCG Economy Model ไปสนับสนุนการดำเนินงานจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนภายใต้กรอบการทำงานของเอเปค ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ สร้างมูลค่า และส่งเสริมรูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืน โดยมีทรัพยากรป่าไม้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการสร้างความสมดุล ระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม สร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจและประชาชนในท้องถิ่น รวมถึงการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพิ่มการดูดซับก๊าซเรือนกระจก ทำให้สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หลังสมาชิกเอเปคประสบความสำเร็จร่วมกันดำเนินงานจนสามารถบรรลุเกินกว่าเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของภูมิภาคที่กำหนดไว้ในปี 2020 จนเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ได้ถึง 174.38 ล้านไร่ หรือ 27.9 ล้านเฮกตาร์