มกอช. เดินหน้าขับเคลื่อนมาตรฐาน ‘ข้าวยั่งยืน’ ยกระดับระบบการผลิตข้าวไทยตลอดห่วงโซ่คุณค่า เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ พร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2567 นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ข้าว เป็นสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตหลักของโลก กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ มีนโยบายการเกษตรที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN) และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดังนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับมาตรฐานการผลิตข้าวให้เกิดความยั่งยืน สร้างโอกาสทางการตลาดและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของข้าวไทย คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร จึงเห็นสมควรกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องข้าวยั่งยืน
โดยมีสาระสำคัญที่สอดคล้องตาม The SRP Standard for Sustainable Rice Cultivation ซึ่งริเริ่มโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชนจากทุกภูมิภาคของโลก รวมทั้งองค์กรอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งมีข้อกำหนดครอบคลุมประเด็นความปลอดภัยด้านอาหาร เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)
ทั้งนี้ มกอช. ได้นำมาตรฐานเรื่องข้าวยั่งยืน มาจัดทำในรูปแบบ Infographic โดยเชื่อมความสัมพันธ์กับ BCG Model ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ระหว่างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว
โดยการขับเคลื่อนมาตรฐานข้าวยั่งยืน มีข้อกำหนดหลัก 10 ข้อ ดังนี้
1. การจัดการฟาร์ม มีการวางแผนจัดทำปฏิทินเพาะปลูกและจดบันทึกข้อมูลสำคัญเพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าดำเนินการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. การเตรียมการก่อนปลูก ได้แก่ จัดการพื้นที่ปลูกข้าวให้ไม่มีความเสี่ยงจากสารปนเปื้อน ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีการส่งเสริมและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ มีการเตรียม และใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดีเพื่อให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่ปลูก มีความต้านทานโรคและให้ผลผลิตที่ดี
3. การใช้น้ำ มีการจัดการน้ำอย่างถูกวิธี ปลูกข้าวพันธุ์ที่เหมาะสมกับแหล่งน้ำในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับสภาพอากาศท้องถิ่น และเลือกวิธีปลูกที่เหมาะสมจะช่วยลดต้นทุนในการสูบน้ำ ลดการใช้น้ำ การสูญเสียผลผลิต ซึ่งการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
4. การจัดการธาตุอาหาร ควรมีการตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารในดินก่อนเริ่มการเพาะปลูก เพื่อให้สามารถคำนวณการใช้ปุ๋ยได้อย่างเหมาะสม เลือกใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ย่อยสลายสมบูรณ์แล้ว หากต้องใช้ปุ๋ยเคมี ให้เลือกชนิดที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน และได้ผลผลิตข้าวที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพดี
5. การจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (IPM) ควรมีการสำรวจและประเมินความเสียหายของแปลงนาสม่ำเสมอ และเลือกใช้วิธีป้องกันศัตรูพืชด้วยวิธีกล ก่อนใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพื่อสร้างความปลอดภัยต่อเกษตรกร ชุมชน สิ่งแวดล้อม และผู้บริโภค
6. การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่เหมาะสม หลังเก็บเกี่ยวโดยวิธีที่เหมาะสมและถูกสุขลักษณะ การจัดเก็บข้าวต้องป้องการปนเปื้อน ควบคุมความชื้นให้ไม่เกิด 14% และแยกเก็บเป็นสัดส่วนไม่เผาตอซังและฟางข้าว ใช้วิธีไถกลบหรือทิ้งไว้ให้ย่อยสลายในแปลงนาอย่างสมบูรณ์ก่อนปล่อยน้ำเข้านา ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย ลดมลพิษจากการเผาและการลดทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดินและระบบนิเวศ
7. สุขภาพและความปลอด ผู้ฉีดพ่นสารเคมีต้องได้รับการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมี ขณะเตรียมหรือฉีดพ่นสารเคมีต้องมีการใช้อุปกรณ์คุ้มคองความปลอดภัยส่วนบุคคล เช่น ถุงมือ หน้ากาก แว่นตาป้องกันสารเคมี ชุดคลุมป้องกันหรือเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว รองเท้าบูท มีการสื่อสารให้ชุมชนทราบถึงช่วงเวลาห้ามเข้าแปลงนา หลังมีการฉีดพ่นสารเคมี (อย่างน้อย 48 ชั่วโมง)
8. สิทธิแรงงานในฟาร์ม ใช้แรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน สนับสนุนให้เด็กได้รับการศึกษาภาคบังคับ ไม่สนับสนุนการค้ามนุษย์
9. การแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นสินค้าข้าวยั่งยืน โดยรับซื้อข้าวเปลือกที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่า มาจากแปลงนาที่ได้รับการรับรองมาตรฐานข้าวยั่งยืน การขัดสี การปรับปรุงสภาพและการบรรจุต้องปฏิบัติตามหลัก GMP/มกษ. 4403 หรือมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะทำให้สินค้าข้าวยั่งยืนมีความปลอดภัยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ รักษาคุณภาพและความเป็นข้าวยั่งยืนได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต
10. การติดฉลากและการกล่าวอ้าง สินค้าข้าว ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานข้าวยั่งยืน (มกษ. 4408-2565) สามารถแสดงฉลากหรือกล่าวอ้างเป็นสินค้าข้าวยั่งยืนได้โดยมีการแสดงฉลาก ระบุชื่อ หรือรหัสของหน่วยรับรองไว้ใต้เครื่องหมาย Q ได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าข้าว
“เกษตรกร/กลุ่มเกษตรกรต้นแบบ จะได้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถยกระดับการผลิตที่สอดคล้องตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง ข้าวยั่งยืน (มกษ. 4408-2565) รวมทั้งสามารถนำไปขยายสู่พื้นที่อื่น ๆ ส่งผลให้เกษตรกร มีความเป็นอยู่ที่ดี มีความเข้มแข็งและมั่นคง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ช่วยยกระดับระบบการผลิตข้าวของไทยตลอดห่วงโซ่คุณค่าและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ” เลขาธิการ มกอช. กล่าว
ที่มาภาพและข้อมูล / สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.naewna.com/relation/781288