มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี เสริมสร้างความเข้มแข็งกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Start Up) กลุ่มอาชีพในชุมชน หลังโควิดคลี่คลาย ด้วยองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้แนวคิดการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมั่นคงตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG
วันที่ 10 ก.ค. 66 ที่หน้าหอประชุมทองใหญ่ ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานมอบปัจจัยการผลิต “โครงการฟื้นฟู เตรียมความพร้อม และเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Start Up) กลุ่มอาชีพในชุมชน หลังสถานการณ์โควิด-19 ด้วยองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้แนวคิดการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมั่นคงตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG โดยมี นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายสามารถ หมั่นนอก ปลัดจังหวัดอุดรธานี นางขนิษฐา โกวิทยากร เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุดรธานี นายบัญชา กันหาสินธุ์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดอุดรธานี หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน ร่วมงาน
ดร.เอกราช ดีงาม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพในชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ชุมชนในเขตจังหวัดภาคอีสาน สร้างต้นแบบกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) กลุ่มอาชีพชุมชนในการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลเศรษฐกิจชุมชนของกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) กลุ่มอาชีพในชุมชน และการประเมินผลสำเร็จทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ได้จัดกิจกรรมการประชุมชี้แจงและอบรมพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชน จำนวน 6 หลักสูตร ได้แก่
1) หลักสูตรการผลิตอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้องจากวัตถุดิบในท้องถิ่น เพื่อลดต้นทุน และการเพิ่มมูลค่าอาหารสัตว์
2) หลักสูตรการเลี้ยงปลาดุกและปลาหมอบ่อ ด้วยอาหารสัตว์จากวัตถุดิบในท้องถิ่น
3) หลักสูตรการเลี้ยงหอยในบ่อ และการแปรรูปที่มีคุณค่าและมูลค่าสูง
4) หลักสูตรการเลี้ยงกบบ่อ และการแปรรูปที่มีคุณค่าและมูลค่าสูง
5) หลักสูตรระบบการปลูกพืชมูลค่าสูงแบบปลอดภัยในโรงเรือนอัจฉริยะ
6) หลักสูตรการเลี้ยงด้วงมะพร้าว และกระบวนการสกัดน้ำมันด้วงมะพร้าวเพื่อการค้า
เพื่อเป็นการส่งเสริมการประกอบอาชีพหลังการอบรม จึงได้มอบปัจจัยการผลิตให้กลุ่มอาชีพในจังหวัดอุดรธานี จำนวน 88 กลุ่ม นำไปประกอบอาชีพตามหลักสูตรที่ได้อบรม โดยคาดหวังว่าโครงการนี้จะช่วยยกระดับอาชีพที่มีอยู่เดิมในชุมชน ให้มีมาตรฐานด้วยองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย ที่ให้ความรู้ ในการสอนวิธีการ และเทคนิคต่างๆ เพื่อให้กลุ่มอาชีพ ได้นำปัจจัยการผลิตไปสร้างเป็นอาชีพ สร้างรายได้ อย่างมั่นคง และขยายผลในชุมชนต่อไป
ที่มาภาพ/ข้อมูล: https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230710224039452