เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ สำหรับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของต่างประเทศที่จะส่งผลต่อการค้าของไทย ในยุคที่เรียกว่าถนนทุกสายมุ่งสู่ Green Economy ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นที่หนึ่ง การจัดเก็บ ภาษีพลาสติก (Plastic Tax) หรือ ภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติก (Plastic Packaging Tax: PPT) จึงเป็นมาตรการที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยลดปัญหา Climate Change
แน่นอนว่าภาษีดังกล่าวมีผลกระทบโดยตรงกับ ผู้ผลิตสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและย่อยสลายยาก โดยเฉพาะในเรื่องของต้นทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้น มาทำความรู้จักกับภาษีที่ว่านี้ให้มากขึ้น ว่าคืออะไรและธุรกิจควรต้องปรับตัวรับมืออย่างไรดี
สำหรับมาตรการจัดเก็บ ภาษีพลาสติก (Plastic Tax) หรือ ภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติก (Plastic Packaging Tax: PPT) เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ผู้ประกอบการไทยต้องคำนึงถึง เพราะจะกลายเป็นต้นทุนทางการค้าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากหลายประเทศคู่ค้าเริ่มบังคับใช้มาตรการภาษีดังกล่าว โดยจะเป็นการเรียกเก็บเงินหรือค่าธรรมเนียมจากผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือประเทศสมาชิกที่มีการผลิต นำเข้า หรือใช้ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและย่อยสลายยาก ทั้งนี้ ไม่รวมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มาจากการรีไซเคิล
อัปเดต ประเทศที่จัดเก็บ และ เตรียมเก็บ ภาษีพลาสติก แล้ว
แล้วประเทศไหนบ้าง? ที่มีการจัดเก็บ ภาษีพลาสติก (Plastic Tax) หรือ ภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติก (Plastic Packaging Tax: PPT) ไปแล้ว หรือกำลังเตรียมที่จะจัดเก็บภาษีในอนาคตอันใกล้นี้
สำหรับประเทศที่จัดเก็บภาษีพลาสติกไปแล้ว ได้แก่ สหภาพยุโรป เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องจ่ายภาษีให้กับสหภาพยุโรป โดยคำนวณจากปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว ในอัตรา 0.8 ยูโรต่อกิโลกรัม และทั้งนี้ทั้งนั้น ประเทศสมาชิกอียูแต่ละประเทศ ยังสามารถที่จะออกมาตรการภาษีพลาสติกของตนเองที่แตกต่างกันออกไปได้อีกด้วย ยกตัวอย่าง
- อิตาลีและสเปน เก็บภาษีพลาสติกจากผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้ซื้อ ซัพพลายเออร์ และผู้นำเข้า ในอัตรา 0.45 ยูโรต่อกิโลกรัม
- สหราชอาณาจักร จัดเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติกจากผู้ผลิตและผู้นำเข้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมจากพลาสติกรีไซเคิลน้อยกว่าร้อยละ 30 ในอัตรา 200 ปอนด์ต่อตัน เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.65 ที่ผ่านมา
- โปรตุเกส เตรียมจัดเก็บภาษีพลาสติกในอัตรา 0.30 ยูโรต่อกิโลกรัม ภายในปี 2566
ส่วนประเทศที่เตรียมจะจัดเก็บภาษี ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกอันดับ 1 ของไทย ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างจัดทำร่างกฎหมาย Reduce Act of 2021 ที่จะจัดเก็บภาษีพลาสติกที่ไม่มีส่วนผสมจากพลาสติกรีไซเคิลและบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ในอัตรา 0.2 – 0.5 ดอลลาร์ต่อปอนด์
ขณะที่ฟิลิปปินส์ เป็นอีกประเทศที่เตรียมจะจัดเก็บภาษีจากผู้ผลิตและผู้นำเข้าพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเช่นกัน ในอัตรา 100 เปโซฟิลิปปินส์ต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 1.75 ดอลลาร์ฯ ภายในปี 2569
แนวโน้มการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก และการปรับตัวที่จำเป็นของผู้ประกอบการไทย
สำหรับข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้บอกไว้ว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกไปตลาดโลก รวมมูลค่าทั้งสิ้น 140,772.17 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 2.07% ของมูลการส่งออกรวม และมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับใน 11 เดือนแรกของปี 2565 คิดเป็นมูลค่า 146,580.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 14.09 %
โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย 5 อันดับแรก ได้แก่
- สหรัฐอเมริกา มีสัดส่วน 19.26%
- ญี่ปุ่น มีสัดส่วน 16. 74%
- เวียดนาม มีสัดส่วน 5.69%
- ฟิลิปปินส์ มีสัดส่วน 4.94%
- จีน มีสัดส่วน 4.75%
ที่มาข้อมูล/อ่านต่อทั้งหมดได้ที่ : https://www.salika.co/2023/04/20/plastic-tax-solution-for-climate-change/