Search
Close this search box.

นายกรัฐมนตรีชวนคนไทยสร้างชาติ สร้างอนาคตที่ดีกว่าเดิมในงานเสวนา “Better Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม”

share to:

Facebook
Twitter

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวปาฐกถาพิเศษ “อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม”

VDO : https://www.facebook.com/ThaigovSpokesman/videos/1444039409370462/


พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักทุกท่านครับ

เมื่อวานนี้ (19 พ.ค.65) ผมได้รับเกียรติให้ไปกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” ในงานเสวนา “Better Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” นับเป็นครั้งแรกในเมืองไทย กับเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเชิงสร้างสรรค์และแบ่งปันประสบการณ์ สำหรับทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยภายใต้วิกฤตการณ์ในปัจจุบัน และความท้าทายในอนาคต

ในโอกาสนี้ ผมได้เชิญชวนพี่น้องชาวไทยจับมือกันก้าวข้ามความขัดแย้ง และเดินไปข้างหน้าสู่เป้าหมายเดียวกัน ตามวิสัยทัศน์ของเรา คือ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลุงทุน ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ด้วยการประกาศ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ระหว่างปี พ.ศ.2561 – 2580 ให้เป็น Master Plan ที่ชัดเจน และเป็น Roadmap ในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป โดยประเด็นสำคัญๆ ที่ผมได้นำเสนอ ได้แก่

1. แนวทางการเอาชนะวิกฤติของโลกที่ส่งผลกระทบกับประเทศไทย ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ การแพร่ระบาดของโควิด-19 และความขัดแย้ง ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

2. การยกระดับ 5 อุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีศักยภาพ และต่อยอด 7 อุตสาหกรรมใหม่ โดยการประยุกต์-ผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกในอนาคต

3. การลงทุนเพื่ออนาคต ได้แก่
(1) การเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทุกระบบ ทั้งทางถนน – ทางราง – ทางน้ำ – ทางอากาศ เพื่อเชื่อมโยงไทยกับโลก
(2) การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม เช่น โครงการเน็ตหมู่บ้านทั้งประเทศ โครงการสายเคเบิ้ลใต้น้ำ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี 5G เพื่อเปิดประตูสู่โอกาส เปลี่ยนผ่านไทยสู่โลกดิจิทัล และส่งเสริมบทบาทของไทยเป็น “ศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียน”

4. การผลักดันเครื่องจักรใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย เช่น
(1) โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเป็นพื้นที่การลงทุนและแหล่งบ่มเพาะ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ
(2) การพัฒนา “เมืองแห่งนวัตกรรม” หรือเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ให้เป็น “ซิลิคอนวัลเลย์” ของเมืองไทย
(3) “เมืองใหม่อัจฉริยะด้วยนวัตกรรม” หรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd)

5. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศทั้งระบบ อย่างบูรณาการและยั่งยืน โดยผลสัมฤทธิ์ที่ได้รับ ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ เพิ่มการกักเก็บน้ำรวม 1,452 ล้านลูกบาศก์เมตร พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 124 ล้านลูกบาศก์เมตร ลดพื้นที่ประสบภัยแล้งลงอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2564/65 ไม่มีประกาศภัยแล้ง

6. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการศึกษา โดยส่งเสริมอาชีวศึกษาให้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้วยการศึกษารูปแบบ “ทวิศึกษา” และปฏิรูปการอุดมศึกษาครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อส่งเสริมการศึกษาแบบ Lifelong Learning หรือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศในการจัดการศึกษายุคใหม่ เพื่อผลิตคนยุคใหม่และเสริมการขับเคลื่อน EEC

7. การขยายผลความสำเร็จด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย ที่ทั่วโลกให้การยอมรับและชื่นชมจากการรับมือกับสถานการณ์โควิดได้ดีที่สุดเป็นลำดับต้นๆ ของโลก เป็นโอกาสของไทยที่จะส่งเสริมบทบาทการเป็น “ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสาธารณสุข” (Medical and Wellness Hub) ของโลก

8. การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และการแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน หรือการตัดเสื้อให้พอดีตัว ทั้ง “5 มิติ พร้อมๆ กัน” ได้แก่ มิติสุขภาพ – มิติความเป็นอยู่ – มิติการศึกษา – มิติด้านรายได้ – มิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ โดยยึดหลัก “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

9. การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เช่น
(1) ส่งเสริม National e-Payment สู่ “สังคมไร้เงินสด” (Cashless Society)
(2) การใช้ Digital ID ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน
(3) การพัฒนาและการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการให้บริการคลาวด์ (Cloud services) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ในการขับเคลื่อนของโลกดิจิทัลในอนาคต

10. การสนับสนุนอุตสาหกรรม การค้า การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการลดปริมาณคาร์บอน สู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ.2608 (ค.ศ.2065) ของประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายในระดับโลก จากการประชุมสุดยอดผู้นำเวทีโลกใน COP26

11. การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) รวมถึงการยกระดับศักยภาพภาคเกษตรกรรมไทย ที่ถือเป็นเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สู่ “เกษตรอัจฉริยะ” หรือ Smart Farmer ช่วยเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ ลดต้นทุน ลดเสี่ยงจากลมฟ้าอากาศและปัจจัยการผลิตที่เป็นปัญหาซ้ำซาก

12. การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ – เชิงธรรมชาติ – เชิงอนุรักษ์ และการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากมรดกทางวัฒนธรรม” (Soft Power) จากระดับท้องถิ่นสู่เวทีระดับโลก

13. การดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ให้มาเป็นผู้พำนักระยะยาวในประเทศไทย เพื่อร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ของประเทศไทย เช่น กลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กลุ่มประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูง และกลุ่มผู้เกษียณอายุ จากต่างประเทศ

14. การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสู่การพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน ในฐานะ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” กับประเทศต่างๆ อาทิ
(1) ฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ในทุกระดับ เพื่อส่งเสริมการส่งออกอาหาร สินค้าเกษตร แรงงาน
(2) เพิ่มความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ผลักดันให้ไทยเป็น “ผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” ในภูมิภาค และเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของโลก
(3) ส่งเสริมการพัฒนาร่วมกันระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุด ที่จะนำพาประเทศไทยของเราไปสู่ความสำเร็จอย่างสูงสุดตามที่ผมได้กล่าวไปในข้างต้นนั้น คือ ความร่วมมือร่วมใจและการมีส่วนร่วมกันจากทุกภาคส่วนในสังคมไทย ซึ่งผมมั่นใจอย่างยิ่งว่าประเทศไทยของเรา ผืนแผ่นดินนี้ มีสิ่งที่งดงามและอนาคตที่ดี รอพวกเรา และลูกหลานเราอยู่ ผมเชื่อมั่นว่า เราได้เดินมาไกล และมาอย่างถูกทางและมั่นคงกว่าเดิมมากแล้ว เพื่ออนาคตประเทศไทยที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
“Better Thailand, Better Tomorrow”

ที่มาข้อมูล : https://www.facebook.com/prayutofficial/posts/546548260175358